ตรวจอาการด้วยตนเอง: ท้องเดินจากไวรัส (Viral gastroenteritis)โรคท้องเดิน หรืออุจจาระร่วงเฉียบพลันที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย มักพบในเด็กเล็ก ส่วนมากจะมีอาการไม่รุนแรงและหายได้เอง มักพบติดต่อกันได้ง่าย บางครั้งอาจมีการระบาดในสถานรับเลี้ยงเด็กหรือผู้สูงอายุ โรงเรียน เป็นต้น
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมีอยู่หลายชนิด เช่น ไวรัส โคโรนา (coronavirus) ไวรัสอะดีโน (adenovirus) ไวรัสแอสโตร (astrovirus) ไวรัสคาลิซิ (calicivirus) ไวรัสนอร์วอล์ก (Norwalk virus) เป็นต้น ติดต่อโดยการกินอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ บางชนิดก็อาจติดต่อโดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน หรือการปนเปื้อนเชื้อในอุจจาระเข้าทางเดินหายใจ (fecal respiratory transmission)
เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคท้องเดินเฉียบพลัน ซึ่งพบได้ในทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุ 6-24 เดือน) ได้แก่ ไวรัสโรตา (rotavirus) ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ โรคนี้พบได้ตลอดปี แต่จะพบมากในช่วงเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ ส่วนใหญ่ติดต่อโดยการกินอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระของผู้ป่วย และสามารถติดต่อทางการหายใจได้ ระยะฟักตัว 1-2 วัน
อาการ
มักมีไข้สูง ถ่ายเป็นน้ำบ่อย อาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย มักจะเป็นอยู่นานเพียงไม่กี่วัน แต่บางรายอาจนาน 1-2 สัปดาห์
สำหรับโรคท้องเดินจากไวรัสโรตา เริ่มแรกจะมีอาการปวดท้อง อาเจียนนำมาก่อน แล้วจึงมีอาการถ่ายเป็นน้ำตามมา อุจจาระมีลักษณะเป็นฟอง มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว มักมีไข้สูงร่วมด้วย บางรายอาจมีอาการคล้ายไข้หวัดร่วมด้วย อาการมักเป็นอยู่นาน 5-7 วัน ในรายที่เป็นไม่มากก็มักจะหายได้เอง แต่ถ้ามีอาการอาเจียนหรือถ่ายท้องรุนแรง ก็อาจเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงได้
ภาวะแทรกซ้อน
ในรายที่เป็นรุนแรงมักเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง
อาจทำให้เกิดภาวะพร่องแล็กเทส เนื่องจากเยื่อบุลำไส้เล็กที่อักเสบไม่สามารถสร้างเอนไซม์ชนิดนี้ชั่วคราว ทำให้มีอาการท้องเดินเรื้อรังตามมาได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก ซึ่งอาจตรวจพบไข้ และภาวะขาดน้ำ
ในกรณีที่จำเป็น แพทย์อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด ตรวจอุจจาระ เพื่อยืนยันการวินิจฉัย
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ให้การรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้-พาราเซตามอล และให้สารละลายน้ำตาลเกลือแร่
2. หากกินไม่ได้ หรือมีภาวะขาดน้ำรุนแรง จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ
การดูแลตนเอง
หากมีอาการถ่ายเป็นน้ำร่วมกับไข้ หรือสงสัยมีอาการท้องเดินจากไวรัส ควรดูแลตนเองดังนี้
1. กินอาหารที่ย่อยง่าย (เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก) รสไม่เผ็ดและไม่มันจัด งดผักและผลไม้
สำหรับทารก ให้ดื่มนมแม่ได้ตามปกติ ถ้าดื่มนมผงในระยะ 2-4 ชั่วโมงแรก ให้ผสมนมเจือจางลงเท่าตัว
2. ให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ครั้งละ 1/2-1 ถ้วย (250 มล.) บ่อย ๆ จนสังเกตเห็นมีปัสสาวะออกมากและใส จึงค่อยเว้นระยะห่างขึ้น
3. ถ้ามีไข้สูง ให้ยาลดไข้-พาราเซตามอล*
4. ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด หรืออุจจาระมีกลิ่นเหม็นจัด
ถ่ายรุนแรง อาเจียนมาก ปวดท้องรุนแรง หรือดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ได้น้อย (สังเกตพบปัสสาวะออกน้อย และมีสีเข้มอยู่เรื่อย ๆ)
มีภาวะขาดน้ำค่อนข้างรุนแรง สังเกตพบมีอาการปากแห้ง คอแห้ง ลิ้นเป็นฝ้าหนา ตาโบ๋ ปัสสาวะออกน้อย
มีอาการอ่อนเพลีย หน้ามืด เวียนศีรษะ ใจหวิวใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว
สำหรับทารก มีท่าทางซึม ไม่ร่าเริง กระหม่อมบุ๋ม
มีไข้เกิน 3-4 วัน หรือมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย
กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก หนังตาตก หรือพูดอ้อแอ้
มีประวัติกินปลาปักเป้า แมงดาถ้วย คางคก เห็ด (ที่สงสัยว่าเป็นเห็ดพิษ) หรือสงสัยว่าเกิดจากการกินสารพิษ
มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยอหิวาต์
ดูแลตนเอง 24 ชั่วโมงแล้วไม่ทุเล
หลังกินยามีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง
*เพื่อความปลอดภัย ควรขอคำแนะนำวิธีและขนาดยาที่ใช้ ผลข้างเคียงของยา และข้อควรระวังในการใช้ยา จากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะการใช้ยาในเด็ก สตรีที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวหรือมีการใช้ยาบางชนิดที่แพทย์สั่งใช้อยู่เป็นประจำ
การป้องกัน
1. ปฏิบัติเช่นเดียวกับการป้องกันท้องเดิน
2. ควรแยกผู้ป่วยไม่ให้คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น ถ้าผู้ป่วยมีอาการไอ จาม ควรปิดปาก อย่าไอหรือจามรดใส่ผู้อื่น
3. ผู้ดูแลทารกหรือเด็กเล็ก (เช่น ในสถานรับเลี้ยงเด็ก) ควรล้างมือกับสบู่ทุกครั้งที่ชำระก้นเด็กหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก
ข้อแนะนำ
1. โรคนี้มีอาการคล้ายไข้หวัดร่วมกับท้องเดิน บางรายจึงเรียกว่า "หวัดลงกระเพาะ" หรือ "ไวรัสลงกระเพาะ"
2. อาการจะคล้ายกับอาหารเป็นพิษ หรือบิดชิเกลลา ระยะแรกหลังให้การรักษาควรเฝ้าดูอาการเปลี่ยนแปลง ถ้าถ่ายเป็นมูกเลือดตามมาควรให้การรักษาแบบบิดชิเกลลา
3. ถ้ามีภาวะพร่องแล็กเทสตามมา ควรให้เด็กงดนมมารดาและนมวัว ให้ดื่มนมถั่วเหลืองแทน และให้การดูแลแบบภาวะพร่องแล็กเทส