ผู้เขียน หัวข้อ: ไขข้อสงสัยเชื้อโควิด-19 ที่หลายคนยังไม่รู้  (อ่าน 44 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 574
    • ดูรายละเอียด
ไขข้อสงสัยเชื้อโควิด-19 ที่หลายคนยังไม่รู้
« เมื่อ: วันที่ 3 ธันวาคม 2024, 20:33:43 น. »
ไขข้อสงสัยเชื้อโควิด-19 ที่หลายคนยังไม่รู้

ท่ามกลางความหวั่นวิตกจากการติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในปัจจุบัน หลายคนคงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคโควิด-19 นี้มากมาย แต่รู้หรือไม่ว่า มีการศึกษาและวิจัยอย่างต่อเนื่องจากทั่วทุกมุมโลกที่ทำให้เราเข้าใกล้คำตอบกันมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้จะเป็นประตูไปสู่การป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพในอนาคต

เพื่อสร้างความเข้าใจและลดความวิตกกังวลหรือความเครียดที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุก ๆ คน ลองมาดูคำตอบของคำถามยอดนิยมที่เรารวบรวมมาไว้ในบทความนี้กันดีกว่า


เผยข้อสงสัย 7 ข้อเรื่องเชื้อโควิด-19

ข้อสงสัยเกี่ยวกับโควิด-19 ที่หลายคนมักเคยได้ยินและถามกันบ่อย ๆ เช่น

1. สัตว์เลี้ยงสามารถแพร่เชื้อโควิด-19 สู่เจ้าของได้หรือไม่

การศึกษาในปัจจุบันบอกได้เพียงว่า สัตว์เลี้ยงภายในบ้านอย่างสุนัขหรือแมวสามารถติดเชื้อโควิด-19 ได้ โดยเฉพาะหากคลุกคลีกับเจ้าของที่ติดเชื้ออย่างใกล้ชิด แต่การแพร่กระจายเชื้อจากสัตว์ไปสู่เจ้าของนั้นมีความเป็นไปได้อยู่ในระดับต่ำ   

อย่างไรก็ตาม เจ้าของควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งหลังสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงของตน เนื่องจากการรักษาความสะอาดจะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียก่อโรคชนิดอื่น ๆ ที่สามารถแพร่จากสัตว์สู่คนอย่างอีโคไล (E. Coli) หรือซาลโมเนลลา (Salmonella) ได้ด้วย


2. สั่งพัสดุมาจากประเทศจีนเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่

จากการวิเคราะห์ที่ผ่านมา เชื้อไวรัสก่อโรคโรควิด-19 ไม่สามารถมีชีวิตได้นานเมื่ออยู่บนสิ่งของ อย่างจดหมายหรือพัสดุ และผลงานวิจัยล่าสุดเผยว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ ในกลุ่มโคโรนาอาจมีชีวิตอยู่นอกร่างกายของคนและปนเปื้อนบนพื้นผิวของสิ่งของได้นานสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 9 วัน อย่างไรก็ตาม หากเชื้อไวรัสอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงประมาณ 30–40 องศาเซลเซียส ก็อาจมีชีวิตสั้นลงกว่าค่าเฉลี่ยด้วย

การสั่งพัสดุ จดหมาย หรือสิ่งของใด ๆ จึงอาจก่อให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายหากนำมือที่สัมผัสพื้นผิวสิ่งของที่มีการปนเปื้อนเชื้อไวรัสมาสัมผัสกับดวงตา จมูก หรือปากของตนเอง หากต้องรับสิ่งของทางไปรษณีย์จากประเทศจีน ประเทศอื่น ๆ รวมถึงในประเทศเองควรเช็ดทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์และน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทั่วไปก่อนเปิดหรือแกะพัสดุ เพราะเชื้อไวรัสชนิดนี้ถูกทำลายได้


3. ตากแดดหรืออยู่ในอุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส ป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่

จะเห็นได้ว่าประเทศในเขตร้อนหลายประเทศที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส ยังคงมีรายงานการตรวจพบผู้ติดเชื้อสะสมอย่างต่อเนื่อง การออกไปตากแดดหรืออยู่ท่ามกลางอุณหภูมิสูงนาน ๆ จึงไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อเชื้อโควิด-19 ได้ และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างผิวหนังไหม้แดดหรือเป็นลม


4. ฉีดพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์หรือคลอรีนตามร่างกาย ช่วยฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่

การฉีดพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ สารฟอกขาวหรือคลอรีนตามร่างกายอาจช่วยฆ่าเชื้อโควิด-19 ที่ปนเปื้อนอยู่ตามภายนอกร่างกายได้เล็กน้อย แต่ถ้าเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสเหล่านั้นได้เลย

ยิ่งไปกว่านั้น สารเคมีเหล่านี้อาจไปทำลายเสื้อผ้า และเป็นอันตรายต่อเยื่อบุภายในดวงตา จมูก หรือปากได้ จึงไม่ควรนำมาฉีดพ่นร่างกายโดยตรง หากต้องการทำความสะอาดสิ่งของหรือพื้นผิวควรฉีดพ่นด้วยความระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำหรือคู่มืออย่างเคร่งครัด


5. เชื้อโควิด-19 ส่งผลต่อผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอเท่านั้นใช่หรือไม่

เราสามารถติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ทุกคน เพียงแต่ผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ อย่างโรคหอบหืด โรคเบาหวานและโรคหัวใจ อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสอย่างรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป ดังนั้น ไม่ว่าใครก็ตามควรดูแลสุขอนามัยส่วนตัวให้ดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อให้ได้มากที่สุด


6. มียาปฏิชีวนะที่ช่วยป้องกันและรักษาการติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่

ยาปฏิชีวนะเป็นยาที่ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ จึงรักษาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ได้ผล ทั้งนี้ แพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะให้กับผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล เพราะอาจติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยได้


7. มียารักษาการติดเชื้อโควิด-19 โดยตรงหรือไม่

เนื่องจากโรคโควิด-19 เป็นไวรัสที่เพิ่งค้นพบในคน จึงยังไม่มียารักษาการติดเชื้อชนิดนี้โดยเฉพาะ โดยสูตรของยาต้านไวรัสยังคงอยู่ขั้นตอนของการคิดค้นและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยกับผู้ป่วยมากที่สุด   ทว่าแพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยใช้ยาบางชนิดในการรักษาหรือบรรเทาอาการจากโรคโควิด-19 

โดยตัวอย่างยาที่ใช้จะมีด้วยกันหลายชนิด ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่มีต่อผู้ป่วยแต่ละคน อาทิ ยาสเตียรอยด์อย่างยาเดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) ยากลุ่มยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี้อย่างยาโทซิลิซูแมบ (Tocilizumab) รวมถึงยาต้านไวรัสอย่างยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ซึ่งถือเป็นยาตัวหลักตามแผนการรักษาของกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรหาซื้อยาดังข้างต้นมารับประทานเอง เพราะการใช้ยาควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์โดยตรง และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้

อย่างไรก็ตาม ข้อสงสัยโรคโควิด-19 ยังมีอีกมาก และต้องการการศึกษาและวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับทุกคน รวมทั้งหาวิธีรักษาและการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ในระหว่างนี้ เราสามารถป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอ ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์บ่อย ๆ เว้นระยะห่างทางสังคม และเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19