ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ (Hypocalcemia)  (อ่าน 6 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 442
    • ดูรายละเอียด
Doctor At Home: ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ (Hypocalcemia)
« เมื่อ: วันที่ 18 กันยายน 2024, 20:19:46 น. »
Doctor At Home: ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ (Hypocalcemia)

ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ หมายถึง ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ (ค่าปกติประมาณ 8.5-10.5 มก./ดล.)

เป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยนัก อาจพบได้ทั้งในทารกและผู้ใหญ่


สาเหตุ

1. ในผู้ใหญ่ส่วนมาก มีสาเหตุจากการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ (เช่น ผู้ป่วยที่เป็นคอพอกเป็นพิษ หรือต่อมไทรอยด์โตมาก) แล้วตัดเอาต่อมพาราไทรอยด์ (ที่อยู่ใกล้กัน) ออกไปด้วย จึงทำให้เกิดภาวะขาดพาราไทรอยด์ (hypoparathyroidism) ต่อมนี้มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนช่วยรักษาระดับของแคลเซียมในเลือดให้อยู่ในสมดุลเมื่อต่อมนี้ทำงานได้น้อย ก็จะทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ ซึ่งอาจแสดงอาการภายหลังผ่าตัดแล้วเป็นปี ๆ ก็ได้ และอาจเป็นชั่วคราวหรือถาวรก็ได้

นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากภาวะขาดพาราไทรอยด์โดยไม่ทราบสาเหตุ ภาวะขาดวิตามินดี ภาวะไตวายเรื้อรัง การกินแคลเซียมน้อยหรือขาดอาหาร ลำไส้ดูดซึมธาตุแคลเซียมได้น้อย โรคพิษสุราเรื้อรัง ภาวะโปรตีน (แอลบูมิน) ในเลือดต่ำ ภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ ภาวะฟอสเฟตในเลือดสูง ภาวะโลหิตเป็นพิษ ภาวะเลือดเป็นด่าง (alkalosis ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ รวมทั้งกลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน) ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน การใช้ยา (เช่น ยาขับปัสสาวะ สเตียรอยด์ ไรแฟมพิซิน เฟนิโทอิน ฟีโนบาร์บิทาล) เป็นต้น

2. ในทารกแรกเกิด ถ้ามีอาการภายใน 3 วันหลังคลอด อาจมีสาเหตุจากทารกคลอดก่อนกำหนดทารกมีภาวะขาดออกซิเจนขณะคลอด มารดาเป็นเบาหวาน หรือมารดามีภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน (ทำให้กดการทำงานของพาราไทรอยด์ในทารก เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำขึ้นในทารก) หรือทารกมีภาวะขาดพาราไทรอยด์โดยกำเนิด

ถ้ามีอาการหลังคลอดเป็นสัปดาห์ขึ้นไป อาจมีสาเหตุจากการให้ทารกกินนมวัวที่มีสารฟอตเฟตสูง ทารกมีภาวะลำไส้ไม่ดูดซึมแคลเซียม หรือเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากโรคอุจจาระร่วง ทารกมีภาวะขาดพาราไทรอยด์โดยกำเนิด ภาวะขาดวิตามินดี (โรคกระดูกอ่อน) หรือภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ (hypomagnesemia)


อาการ

ในรายที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำเล็กน้อย อาจไม่มีอาการแสดงให้ปรากฏชัดเจน หรือมีอาการอ่อนเพลีย ง่วงนอนง่ายโดยไม่ทราบสาเหตุ มักตรวจพบจากการตรวจเลือด

ผู้ป่วยจะแสดงอาการเมื่อมีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำค่อนข้างมาก อาการที่พบได้บ่อย คือ ผู้ป่วยจะมีอาการมือจีบเกร็งทั้ง 2 ข้าง แบบเดียวกับที่พบในผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน

นอกจากนี้อาจเป็นตะคริวที่ขา ใบหน้า หรือปวดบิดในท้อง บางรายอาจมีความรู้สึกชาที่ริมฝีปาก ลิ้น และปลายมือปลายเท้า

ถ้าเป็นรุนแรงอาจมีอาการชัก

ในทารก อาจมีอาการชัก หายใจลำบาก ตัวเขียว บางรายอาจมีอาการอาเจียน (ซึ่งอาจรุนแรงจนเข้าใจผิดว่ามีภาวะกระเพาะลำไส้อุดกั้น)


ภาวะแทรกซ้อน

ถ้ามีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำมาก ๆ อาจทำให้หัวใจวาย กล่องเสียงเกร็งตัวจนหายใจไม่ได้

หากปล่อยไว้เรื้อรัง (เช่น เกิดจากภาวะขาดพาราไทรอยด์ที่ไม่ทราบสาเหตุ ไตวายเรื้อรัง) อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ กระดูกพรุน (ทำให้กระดุกหักง่าย) เป็นต้อกระจก ประสาทตาบวมหรืออักเสบ ความจำเสื่อม บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง ซึมเศร้า ประสาทหลอน

ถ้าหากเป็นตั้งแต่เล็ก ๆ หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ฟันเสีย ร่างกายไม่เจริญเติบโต และปัญญาอ่อนได้

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและการตรวจพบมือจีบเกร็งทั้ง 2 ข้าง อาจเป็นตะคริวที่ขา หรือชัก

อาจตรวจพบรีเฟลกซ์ของข้อ (tendon reflex) ไวกว่าปกติ

อาจทำการทดสอบโดยการใช้เครื่องวัดความดันพันรอบแขนด้วยแรงดันที่สูงกว่าความดันโลหิตช่วงบนของผู้ป่วย ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อที่มือเกร็ง (เรียกว่า "Trousseau sign") หรือใช้นิ้วชี้เคาะที่กระดูกโหนกแก้ม (zygoma bone) กระตุ้นให้กล้ามเนื้อใบหน้ากระตุก (เรียกว่า "Chvostek’s sign")   

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการเจาะเลือดตรวจดูระดับแคลเซียม มีค่าต่ำกว่า 8.5 มก./ดล.ในผู้ใหญ่ (ต่ำกว่า 8 มก./ดล.ในทารกคลอดครบกำหนด หรือต่ำกว่า 7 มก./ดล.ในทารกคลอดก่อนกำหนด) ตรวจหาสาเหตุ (เช่น ตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ วิตามินดี แมกนีเซียม ฟอสเฟต แอลบูมิน การทำงานของไต เป็นต้น) และอาจทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 

การรักษาโดยแพทย์

ในรายที่มีอาการเฉียบพลัน เช่น ชัก มือเท้าจีบเกร็ง หรือกล้ามเนื้อเป็นตะคริว แพทย์จะฉีดแคลเซียมกลูโคเนต 10 มล. เข้าหลอดเลือดดำช้า ๆ หรือผสมในน้ำเกลือหยดเข้าทางหลอดเลือดดำ ซึ่งจะช่วยให้อาการทุเลาทันที

แพทย์ทำการตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาตามสาเหตุ เช่น

    ในรายที่มีประวัติการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ (สังเกตเห็นรอยแผลที่คอ) อาจต้องให้ผู้ป่วยกินเกลือแคลเซียม เช่น แคลเซียมกลูโคเนต เป็นประจำทุกวัน   
    บางรายอาจมีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำชั่วระยะหนึ่ง และอาจหายได้เอง แต่บางรายก็อาจเป็นถาวร ซึ่งต้องคอยกินยารักษาตลอดไป
    ในรายที่เกิดจากภาวะขาดพาราไทรอยด์ อาจให้กินเกลือแคลเซียม ร่วมกับวิตามินดี เช่น แคลเซียมทริออล (calcitriol) ร่วมด้วย เป็นประจำทุกวัน ผู้ป่วยอาจต้องกินยาติดต่อกันตลอดไป โดยแพทย์จะนัดตรวจระดับแคลเซียมในเลือดเป็นครั้งคราว


ผลการรักษา ขึ้นกับสาเหตุ รายที่มีสาเหตุที่แก้ไขได้ (เช่น สาเหตุจากการใช้ยาบางชนิด, การกินแคลเซียมน้อยเกินไป, ภาวะเลือดเป็นด่าง) หรือเป็นเพียงชั่วคราว (เช่น ที่พบในทารกที่มีอาการเกิดขึ้นภายใน 3 วันหลังคลอดส่วนใหญ่, ภาวะแทรกจากการผ่าตัดไทรอยด์ในบางราย) มักจะหายขาดได้ แต่ถ้าเกิดจากภาวะขาดพาราไทรอยด์โดยกำเนิด จำเป็นต้องกินยารักษาตลอดไป


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการชัก มือจีบเกร็ง เป็นตะคริวที่ขา ใบหน้า หรือมีความรู้สึกชาที่ริมฝีปาก ลิ้น และปลายมือปลายเท้า ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว 

เมื่อตรวจพบว่าเป็นภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    กินยาแล้วอาการไม่ทุเลา
    ขาดยาหรือยาหาย
    กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

ขึ้นกับสาเหตุ สำหรับสาเหตุที่ป้องกันได้ อาจป้องกันได้ ดังนี้

    สาเหตุที่พบบ่อยคือ เกิดจากการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ อาจป้องกันโดยการระมัดระวังในการทำผ่าตัด และการให้วิตามินดีและแคลเซียมกินป้องกันก่อนผ่าตัด โดยพิจารณาจากระดับวิตามินดีและแคลเซียมในเลือดที่ตรวจพบก่อนผ่าตัด
    การบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมพอเพียงกับความต้องการของร่างกาย
    การเฝ้าระวังภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ สเตียรอยด์ ไรแฟมพิซิน เฟนิโทอิน ฟีโนบาร์บิทาล
    การป้องกันภาวะไตวายเรื้อรัง โรคพิษสุราเรื้อรัง

ข้อแนะนำ

อาการที่พบได้บ่อยของผู้ที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำอย่างหนึ่ง คือ อาการมือจีบเกร็ง 2 ข้าง อาการลักษณะนี้อาจมีสาเหตุจากภาวะขาดพาราไทรอยด์ (ซึ่งเป็นผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ และจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยการให้แคลเซียมเป็นประจำทุกวัน) หรือกลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน (ดู ภาวะกลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน) ซึ่งเป็นภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำชั่วคราว และเมื่อแก้ไขภาวะระบายลมหายใจเกินให้หายได้ ก็ไม่จำเป็นต้องให้แคลเซียม วิธีแยกสาเหตุ 2 อย่างนี้ได้ง่าย ๆ คือ หากตรวจพบรอยแผลผ่าตัดไทรอยด์ที่คอ ก็น่าจะเป็นภาวะขาดพาราไทรอยด์มากกว่ากลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน