การสูญเสียฟันแท้ตามธรรมชาติไปนั้น อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของผู้สูญเสียฟันได้ เพราะไม่ว่าจะยิ้ม จะพูด หรือกินอาหาร ก็อาจกังวลว่าซี่ฟันที่โหว่หายไปจะเป็นจุดสนใจของคนอื่น
แน่นอนว่าปัจจุบันมีทางเลือกหลายทางในการทดแทนฟันที่สูญเสียไป ไม่ว่าจะเป็นฟันปลอมแบบถอดได้ หรือฟันปลอมแบบติดแน่นอย่างสะพานฟัน
แต่ผู้ที่สวมฟันปลอมเองก็อาจรู้สึกไม่เป็นหนึ่งเดียวกับฟันซี่ดังกล่าว รวมถึงฟันปลอมแบบถอดได้ก็มีโอกาสขยับออกจากตำแหน่งเวลาเคี้ยวอาหาร ทำให้กังวลอยู่บ่อยครัง
การทำรากฟันเทียม จึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการทดแทนที่ใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติที่สุด เพราะหลังจากรักษาสำเร็จแล้วก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายผู้รับบริการไปเลย
รากฟันเทียม คืออะไร?
รากฟันเทียม (Dental Implants) คือวัสดุที่ใช้ทดแทนรากฟันที่หลุดออกไป มีลักษณะคล้ายกับน็อตหรือสกรู ฝังลงไปในกระดูกขากรรไกรจุดที่สูญเสียรากฟัน จากนั้นก็จะติดฟันปลอมไว้ด้านบนเพื่อทดแทนซี่ฟันที่หายไป
รากฟันเทียมส่วนใหญ่ทำจากไทเทเนียมซึ่งเป็นวัสดุที่เข้ากับร่างกายมนุษย์ได้ดีที่สุด ช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับฟันปลอมด้านบนไม่ว่าจะเป็นครอบฟันหรือสะพานฟัน โดยจะสามารถรองรับแรงบดเคี้ยวได้เช่นเดียวกับฟันแท้ตามธรรมชาติ
ใครควรใส่รากฟันเทียม?
ผู้ที่สูญเสียฟันแท้ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของขากรรไกร แต่มีสุขภาพดีเพียงพอสำหรับรับการผ่าตัดในช่องปาก ถอนฟัน และสะดวกในการมาพบทันตแพทย์ตลอดระยะเวลารักษา
หลังทำรากเทียมแล้วสามารถเลือกใส่ฟันปลอมแบบถอดได้ หรือฟันปลอมแบบติดแน่น เช่น ครอบฟัน หรือทำสะพานฟันก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละบุคคลร่วมกับการประเมินของทันตแพทย์
ทำรากฟันเทียม ราคา
ใครไม่ควรใส่รากฟันเทียม?
ผู้ที่ไม่ควรใส่รากฟันเทียม หรือควรชะลอการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมออกไปก่อน มีดังนี้
ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ เพราะอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนระหว่างการรักษาได้
ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ
ผู้ที่อยู่ระหว่างรักษาด้วยรังสีบำบัด (Radiation Therapy) บริเวณคอ หรือศีรษะ อาจต้องรับการประเมินเป็นรายคนไป
ผู้ที่ขากรรไกรยังไม่หยุดการเจริญเติบโต
อย่างไรก็ตาม แม้คุณจะอยู่ในเงื่อนไขที่ไม่ควรรับการรักษาด้วยรากฟันเทียมตามที่กล่าวมา แต่การสูญเสียฟันโดยไม่รับการรักษาหรือทดแทนฟัน อาจส่งผลให้ฟันข้างเคียงล้มมาในบริเวณช่องว่างฟันที่เสียไป ทำให้ทำความสะอาดได้ยาก และนำไปสู่โรคเหงือกในอนาคตได้ จึงควรปรึกษาทันตแพทย์ถึงทางเลือกอื่นๆ ที่เหมาะสมต่อไป
รากฟันเทียมมีกี่รูปแบบ?
การทำรากฟันเทียมแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบหลักๆ ดังนี้
1. การทำรากฟันเทียมแบบดั้งเดิม
การทำรากฟันเทียมแบบดั้งเดิม (Conventional Implant) คือการทำรากฟันเทียมหลังจากถอนฟันซี่ที่มีปัญหาออก จากนั้นรอให้กระดูกและแผลหายสนิท โดยใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับสภาพช่องปากและขากรรไกรของแต่ละคน
เมื่อแผลหายสนิทแล้วจึงนัดผ่าตัดใส่รากเทียม และรอจนกว่ากระดูกจะยึดติดกับรากฟันเทียม จึงค่อยใส่ครอบฟันหรือทำสะพานฟันบนรากเทียมนั้น ข้อดีคือมั่นคง แข็งแรง แต่มีข้อจำกัดสำคัญคือระยะเวลารักษาค่อนข้างนาน
2. การทำรากฟันเทียมหลังจากถอนฟันทันที
การทำรากฟันหลังจากถอนฟันทันที (Immediate implant placement) คือการใส่รากฟันเทียมทันทีหลังจากถอนฟันเสร็จเลย จากนั้นรอประมาณ 3-6 เดือน เพื่อให้รากฟันเทียมยึดกับกระดูก แล้วจึงครอบฟันหรือทำสะพาน วิธีนี้ประหยัดเวลามากกว่า แต่ต้องให้ทันตแพทย์เฉพาะทางประเมินสภาพช่องปาก และกระดูกขากรรไกรร่วมด้วย
3. การทำรากฟันเทียมพร้อมฟันปลอม
การทำรากฟันเทียมพร้อมฟันปลอม (Immediate loaded implant) คือรากฟันเทียมที่ใส่ร่วมกับครอบฟันในครั้งเดียว
วิธีนี้คือวิธีที่รวดเร็วที่สุด ลดขั้นตอนและเวลารักษาได้มาก แต่ก็มีข้อจำกัดมากเช่นกัน เช่น เหมาะกับตำแหน่งฟันหน้าหรือฟันกรามน้อยเท่านั้น สภาพกระดูกขากรรไกรต้องสมบูรณ์ มีกระดูกเพียงพอในการฝังรากเทียม ลักษณะการสบของฟันเหมาะสม ซึ่งต้องให้ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประเมินอย่างละเอียด
การเตรียมตัวก่อนทำรากฟันเทียม
การทำรากฟันเทียมเป็นการรักษาที่มีหลายขั้นตอน ก่อนเริ่มกระบวนการผ่าตัดจึงมักต้องวางแผนล่วงหน้าให้รัดกุมเสียก่อน
โดยการทำรากฟันเทียมหนึ่งเคสอาจต้องมีแพทย์พิจารณาร่วมกันมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป เช่น ทันตแพทย์ผู้ทำการออกแบบฟันปลอม ทันตแพทย์เฉพาะทางด้านการรักษาโรคในช่องปาก ศัลยแพทย์ช่องปาก เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานที่และสภาพช่องปากแต่ละบุคคล
ทีมแพทย์อาจตรวจความพร้อมของผู้รับบริการ ดังนี้
ตรวจทันตกรรมครบวงจร เป็นการตรวจสภาพช่องปากที่อาจต้องใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น เอกซเรย์ ถ่ายภาพ 3 มิติ รวมถึงสร้างแบบจำลองช่องปากและขากรรไกร
ซักประวัติสุขภาพ ทันตแพทย์จะสอบถามเรื่องโรคประจำตัว ยาที่ใช้เป็นประจำ รวมถึงอาหารเสริมทุกชนิดที่ใช้ ควรบอกทันตแพทย์อย่างครบถ้วน และไม่คิดเอาเองว่าโรคที่มีนั้นไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการทำรากฟันเทียม เพราะหลายๆ โรคอาจส่งผลกระทบต่อการผ่าตัดได้ เช่น โรคเบาหวาน
วางแผนการรักษา เมื่อได้รับข้อมูลเพียงพอแล้ว ทันตแพทย์จะวางแผนที่เหมาะสมกับแต่ละคนตามปัจจัยต่างๆ เช่น จำนวนฟันที่ต้องการใส่รากฟันเทียม รูปแบบขากรรไกร ฟันซี่อื่นๆ ที่เหลืออยู่ และโรคประจำตัว
เมื่อได้กำหนดนัดหมายแล้ว ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำในการเตรียมตัวก่อนถึงวันผ่าตัด เช่น จำเป็นต้องอดอาหารหรือน้ำก่อนหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทยาระงับความรู้สึกที่ใช้
รากฟันเทียมทั้งปาก: ใครควรใส่หรือไม่ควรใส่รากฟันเทียม? อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://bit.ly/3P3AQ21